ภาวะปอดแฟบ

ใครเคยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ๆ บ้างคะ เชื่อว่าใครหลายคนน่าจะต้องผ่านประสบการณ์การเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลมาแล้วแน่ๆ การผ่าตัดใหญ่เหล่านี้ ต้องอาศัยการดมยาสลบหรือการ block หลัง โดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อให้หมดสติ หรือไม่รู้สึกในบริเวณที่ได้รับการผ่าตัดค่ะ

ซึ่งภายหลังจากการผ่าตัดแล้ว ท่านจะได้รับการดูแลต่อที่หอผู้ป่วย การดูแลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดนั้นมีด้วยกันหลายเรื่องค่ะ แต่วันนี้เราจะพามาดูเรื่องภาวะปอดแฟบ ภายหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ หากท่านไม่ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามแผนการรักษา

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า ภาวะปอดแฟบ(Atelectasis) ภายหลังการผ่าตัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

  • ภาวะปอดแฟบภายหลังการผ่าตัด เกิดจากการที่ผู้ป่วยนอนแล้วแผ่นหลังติดกับเตียงนาน ไม่ได้มีการลุก ขยับตัว นอกจากนี้ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมักมีแผลที่เกิดจากการผ่าตัด รวมถึงอาจมีอุปกรณ์จากห้องผ่าตัดกลับมา เช่น สายระบายเลือดที่คาอยู่ที่แผล ทำให้การขยับตัวในช่วงนี้ลดลง

ซึ่งเมื่อผู้ป่วยขยับตัวลดลง และแผ่นหลังติดกับเตียงนานๆ แล้วจะทำให้การขยายตัวของปอดไม่ดี เมื่อเราหายใจเข้า แล้วปอดขยายตัวไม่ได้อย่างเต็มที่ก็จะทำให้ร่างกายได้รับ ออกซิเจน(Oxygen) ลดลงนั่นเองค่ะ และในผู้ป่วยบางรายที่มีการผ่าตัดทรวงอกหรือหน้าท้องการหายใจที่ลึกอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแผลมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมักจะมีการหายใจที่ตื้น จึงส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงได้เช่นกันค่ะ ซึ่งระดับออกซิเจนในเลือด ปกติจะมีค่า 95-100%

การป้องกันภาวะปอดแฟบภายหลังการผ่าตัด สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยขยับตัวเพิ่มมากขึ้น การกระตุ้นให้ผู้ป่วยหายใจเข้า-ออกให้ลึกขึ้น(Deep Breathing) หรือการใช้ลูกบอลดูดกระตุ้นการขยายตัวของปอด(Triflow)

Triflow หรือ Incentive Spirometer คือ อุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของปอด โดยลักษณะจะเป็นพลาสติกที่มีลูกบอล 3 ลูกและมีท่อพลาสติกที่มีปากคาบ โดยในแต่ละช่องจะมีปริมาตรอากาศ 600 cc, 900 cc และ 1200 cc ค่ะ หากผู้ป่วยสามารถดูดลูกบอลให้ลอยได้ครบทุกลูกแปลว่าปอดมีการขยายตัวได้ดี
การใช้งาน Triflow สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. จัดท่าผู้ป่วยศีรษะสูงหรือจัดท่านั่งเพื่อช่วยให้ปอดขยายตัวได้ดี
  2. จับ Triflow ตั้งขึ้น ใช้ปากอมปากคาบของท่อพลาสติกให้แนบสนิท
  3. หายใจเข้า-ออก ลึกๆ ก่อนออกแรงดูดค้างไว้ 5 วินาทีเพื่อให้ลูกบอลพลาสติกใน Triflow ขยับขึ้น เว้นจังหวะพัก 2-3 วินาที ก่อนทำซ้ำ

ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 100 ครั้ง โดยแบ่งเป็นเซต โดยฝึกเซตละ 5-10 ครั้งค่ะ

ภาวะปอดแฟบนั้น เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังการผ่าตัด แต่หากท่านปฏิบัติตนหลังผ่าตัดได้อย่างถูกวิธีแล้วนั้น ท่านก็จะสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดแฟบตามมาได้ค่ะ

สนใจบริการ

เฝ้าไข้ที่บ้านและโรงพยาบาล #พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล #ดูแลเจาะเลือดที่บ้าน #บริการทำแผลที่บ้าน #บริการวางแผนสอนดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุที่บ้าน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
Line : @unitynursingcare
Tel ????: 063-526-5593
E-mail ????: unitynursingcare@gmail.com
Website ???? : www.unitynursingcare.com